วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พระเจ้าตากสินมหาราช


บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด
พระปณิธาน

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก

ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา

ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา

แด่พระศาสดา สมณะ พระพุทธโคดม

ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี

สมณะพราหมณ์ ปฏิบัติ ให้พอสม

เจริญสมถะ วิปัสนา พ่อชื่นชม

ถวายบังคม รอยพระบาท พระศาสดา


คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า

ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา

พุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา

พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่ักัน.

พระราชประวัติ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช 1096 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นชาวจีนชื่อนายไหฮอง หรือ หยง แซ่แต้ เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ พระราชชนนีชื่อนางนกเอี้ยง (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพามาตย์) ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับจวนเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายก
เมื่อยังทรงพระเยาว์เจ้าพระยาจักรีได้ขอสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และได้ตั้งชื่อพระองค์ท่านว่า สิน พอนายสินอายุได้ 9 ขวบ เจ้าพระยาจักรีก็นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ครั้นอายุได้ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำนายสินเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตามประเพณีของการรับราชการในสมัยนั้น ในระหว่างรับราชการเป็นมหาดเล็กนายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ทางด้านภาษาต่างประเทศหลายภาษา มีภาษาจีน ภาษาญวน และภาษาแขก จนสามารถพูดได้สามภาษาอย่างชำนิชำนาญ
ครั้นนายสินอายุได้ 21 ปี เจ้าพระยาจักรีได้ประกอบการอุปสมบทนายสินเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ในสำนักอาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส นายสินอุปสมบทอยู่ 3 พรรษา แล้วก็ลาสิกขาบทกลับมาเข้ารับราชการตามเดิม เนื่องจากนายสินเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ขนบธรรมเนียมราชกิจต่าง ๆ โดยมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายสินเป็นมหาดเล็กรายงาน ด้วยราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง
พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จเสวยราชสมบัติได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายสิริราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงานเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งนายสินได้ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะและมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ช่วยราชการอยู่กับพระยาตาก ครั้นเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรมลงก็ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนหลวงยกกระบัตร (สิน) เป็นพระยาตาก ปกครองเมืองตากแทน
พ.ศ. 2308 พระยาตาก (สิน) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เข้ามาช่วยราชการสงครามเพื่อป้องกันพม่าในกรุงศรีอยุธยา พระยาตาก (สิน) มีฝีมือการรบป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็งมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ (สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม
พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในเดือนเมษายน พระยาตากก็สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนได้ แล้วก็คิดจะปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีใหม่ แต่เมื่อได้ตรวจความเสียหายแล้วเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้รับความเสียหายเป็นอันมากยากที่จะบูรณะให้เหมือนดังเดิมได้ และประกอบกับรี้พลของเจ้าตากมีไม่พอที่จะรักษากรุงศรีอยุธยาที่เป็นเมืองใหญ่ได้ จึงเลือกเมืองธนบุรีเป็นราชธานี และได้อพยพผู้คนลงมาตั้งมั่นที่เมืองธนบุรี
เจ้าตากทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 28 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2311 ขณะมีพระชนมายุได้ 34 พรรษา ทรงนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมขนานพระนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดากับสมเด็จพระอัครมเหษี กรมหลวงบาทบริจา และกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ รวมทั้งพระสนมต่าง ๆ รวมทั้งสิน 29 พระองค์
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ จ.ศ. 1144 ปีขาล ตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2325 พระชนมายุ 48 พรรษา รวมสิริราชสมบัติ 15 ปี


กระบวนการกอบกู้เอกราช
หลังจากที่พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมพม่า มุ่งไปยังหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก ประมาณ 3 เดือน พม่าก็เข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2310 พม่าจุดไฟเผาเมืองจนวอดวาย พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่ามีพระบรมราชโองการให้ทำลายทุกอย่างให้ย่อยยับ แล้วให้จับพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ และรวบรวมสมบัติทั้งหมดของอยุธยาส่งกลับไปพม่า ข่าวกรุงแตกได้แพร่กระจาย ขณะที่พระยาตากอยู่ที่เมืองระยอง พระยาตากจึงได้ประกาศตนเป็นผุ้นำในการที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และกอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้กลับรุ่งเรืองดังเดิม บรรดาแม่ทัพนายกองที่สวามิภักดิ์ต่างพร้อมใจกันยกพระยา ตากขึ้นเป็นผู้นำขบวนการกอบกู้แผ่นดิน และเรียกพระยาตากว่า เจ้าตาก นับตั้งแต่นั้นมา เจ้าตากได้นำ ไพร่พลทั้งไทยและจีนเดินทางต่อไปยังฝั่งทะเลด้านตะวันออก รอเวลาที่จะกอบกู้แผ่นดินจากพม่า ทุกขั้น ตอนของแผนกอบกู้เอกราช ล้วนแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในด้านยุทธวิธีทางทหาร ทั้งทางบกและทางน้ำ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งตรงไปยังบ้านโพธิ์สังหาญ หรือ โพธิ์สาวหาญ รุ่งเช้าได้ต่อสู้กับกองทหารพม่า ทหารไทยฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายแตกหนีไปพระยาตาก จึงนำทหารเดินทางต่อ และไปตั้งค่ายพักอยู่บ้านพรานนก ให้พวกทหารไปเที่ยวหาอาหาร มาเลี้ยงกัน ขณะนั้นมีทหารพม่ากองหนึ่ง ซึ่งมีทหารม้าประมาณ 30 คน ทหารเดินเท้าประมาณ 200 คน เดินทาง มาจากแขวงเมืองปราจีนบุรี สวนทางมาพบทหารพระยาตากที่เที่ยวหาเสบียงอาหาร ทหารพม่าก็ไล่จับและ ติดตามมายังบ้านพรานนก พระยาตากจึงให้ทหารแยกออกซุ่มสองทาง ตนเองขึ้นขี่ม้าพร้อมกับทหารอีก 4 คน ควบตรงไปไล่ฟันทหารม้าพม่า ทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวตกใจถอยกลับ ไปปะทะกับทหารเดินเท้าของตนเอง เกิดการอลหม่าน ทหารไทยที่ซุ่มอยู่สองข้างจึงแยกเป็นปีกกาตีโอบทหารพม่าไว้สองข้าง แล้วไล่ฟันทหารพม่า ล้มตายและแตกหนีไป พวกราษฎรที่หลบซ่อนพม่าอยู่ ครั้นเห็นพระยาตากรบชนะพม่า ก็ดีใจพากัน เข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก พระยาตากจึงให้ราษฎรเหล่านั้น ไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้านายซ่องมาสวามิภักดิ์ นำช้าง ม้าพาหนะและเสบียงอาหารมามอบให้ นายซ่องใหญ่ที่ไม่ยอมอ่อนน้อม ก็ถูกปราบปรามจนราบคาบ ริบพาหนะ ผู้คน ช้างม้า และศาสตราวุธ ได้เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นพระยาตากจึงยกกองทหารไปทาง นาเริง เมืองนครนายก ผ่านด่านกบแจะ ข้ามลำน้ำปราจีนบุรี ไปตั้งพักอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ข้างฝั่งตะวันออก พม่าที่ตั้งทัพอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ใต้เมืองปราจีนบุรียกพลตามมา พระยาตากก็นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันทหารพม่า ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็หนีแตกกระจัดกระจายไป นับแต่นั้นมา พม่าก็มิได้ติดตามกองทัพพระยา ตากอีกต่อไป พระยาตากได้ยกกองทัพผ่านเมืองฉะเชิงเทรา ชลบุรี แล้วจึงเดินทางต่อไปยังบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง เมื่อถึงเมืองระยอง เจ้าเมืองระยองซึ่งได้ยินกิติศัพท์ของพระยาตากก็ยอมอ่อนน้อมเชิญให้ เข้าเมือง พระยาตากใช้เวลาไม่ถึงเดือนนับจากตีหักออกจากกรุงศรีอยุธยาก็ยึดเมืองระยองเป็นที่มั่นได้ ความ สามารถของพระยาตากในการรวบรวม คนไทยได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงถึงศักยภาพของพระยาตากที่มี เหนือกลุ่มอื่น ๆ ในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

พระราชวิเทคโศบายในการยึดจันทบุรี
พระยาตากเดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เพื่อใช้เป็นฐาน กำลังฟื้นฟูขวัญของไพร่พล เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ พระยาตากจึงต้องใช้จิตวิทยาในด้านการรบ มาใช้กับแม่ทัพนายกอง เพื่อต้องการรบให้ชนะ โดยสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงหมายไปกินอาหารมื้อเช้า ในเมือง ถ้าตีเมืองไม่ได้ก็ต้องอดตาย ครั้นถึงเวลาค่ำ พระยาตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยจีนลอบเข้าไปอยู่ ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน มิให้ส่งเสียงจนกว่าจะเข้าเมือง ได้จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ พอได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณ บอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ส่วนพระยาตากก็ไสช้างเข้าพังประตูเมือง ชาวเมืองที่ประจำการอยู่ก็ยิง ปืนใหญ่เข้าใส่ นายท้ายช้างเกรงว่าพระยาตากจะถูกยิงจึงเกี่ยวช้างให้ถอยออกมา พระยาตากชักดาบออกมา จะฟัน นายท้ายช้างจึงได้ขอชีวิตไว้ แล้วไสช้างเข้าชนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารพระยาตากจึงกรูกัน เข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยัง เมืองบันทายมาศ พระยาตากตีเมืองจันทบุรีได้ ณ วันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2310 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

เมื่อยึดเมืองจันทบุรีได้แล้ว พระยาตากได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความ เกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ พระยาตาก ได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้ พระยาตากจึงลงเรือรบ คุมกองเรือไปล้อมสำเภาจีน เหล่านั้น ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวัน พระยาตากก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด ได้ทรัพย์สินสิ่งของมา เป็นจำนวนมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าเรือรบไทยสมัยนั้น มีขนาดพอ ๆ กับเรือยาวที่ใช้แข่งตามแม่น้ำ เมื่อสามารถเข้าตียึดเรือสำเภาขนาดใหญ่ที่ใช้เดินทะเลและมีปืนใหญ่ประจำเรือด้วยได้นั้น แสดงว่าแม่ทัพ เรือและทหารเรือ จะต้องมีความสามารถมาก

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่ พุทธศักราช 2310 ไปจนถึง พุทธศักราช 2325 ได้มีการทำศึกสงครามเกือบตลอดเพื่อรวบรวม ป้องกัน และขยายพระราชอาณาเขต สำหรับเหตุการณ์ที่สำคัญๆ อาจจะสรุปได้ดังนี้

พุทธศักราช 2310

การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2
การประกาศอิสรภาพหลังจากที่รบชนะพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น
การสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นเมืองหลวง
พม่ายกกองทัพมาตีไทยที่บางกุ้ง

พุทธศักราช 2311

การเถลิงถวัลยราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
การยกกองทัพขึ้นไปตีกลุ่มเมืองพิษณุโลก
กลุ่มพระฝางยกกองทัพลงมาตีกลุ่มเมืองพิษณุโลก
การยกกองทัพขึ้นไปตีกลุ่มเมืองพิมาย

พุทธศักราช 2312

กรุงศรีสัตนาคนหุตแต่งเจ้าหน่อเมืองนำเครื่องราชบรรณาการมาขอเป็นเมืองขึ้น
การยกกองทัพขึ้นไปตีเขมร
การยกกองทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช

พุทธศักราช 2313

การยกกองทัพขึ้นไปตีกลุ่มเมืองสวางคบุรี
พม่ายกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก
การยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 1

พุทธศักราช 2314

การสร้างกำแพงเมืองกรุงธนบุรี
การยกกองทัพไปตีเขมร

พุทธศักราช 2315

พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1

พุทธศักราช 2316

การสักเลก (ไพร่หลวง ไพร่สม และเลกหัวเมือง)
พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 2

พุทธศักราช 2317

การยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2
พม่ายกกองทัพมาตีบางแก้ว (แขวงเมืองราชบุรี)

พุทธศักราช 2318

พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก

พุทธศักราช 2319

กบฎเมืองนางรอง และการยกกองทัพไปปราบหัวเมืองลุ่มแม่น้ำโขง
พระเจ้าตากทรงเริ่มการเจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน

พุทธศักราช 2320

การสถาปนาเจ้าพระยาจักรีขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

พุทธศักราช 2321

กรุงศรีสัตนาคนหุตแต่งทัพมารบกับพระวอที่หนองบัวลำภูและที่ดอนมดแดง

พุทธศักราช 2322

การยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์
การอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร พระแก้วมรกตและพระบางมาสู่กรุงธนบุรี

พุทธศักราช 2323

การจลาจลวุ่นวายในเขมร
กบฎวุ่นวายในกรุงธนบุรี

พุทธศักราช 2324

การยกกองทัพขึ้นไปตีเขมร
ความวุ่นวายภายในกรุงธนบุรี
กบฎพระยาสรรค์
สงครามกลางเมืองระหว่างพระยาสรรค์และพระยาสุริยอภัย

พุทธศักราช 2325

การพิจารณาปัญหาเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสิน
การสิ้นสุดของสมัยกรุงธนบุรี